9.03.2012

หวั่นต่างชาติแย่งงานคนไทย


เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ( SBAC ) มีการเสวนา "Next Step อาชีวศึกษา:สร้างคนพันธุ์ R รับคำท้าอาเซียน" จัดโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์(ประเทศไทย) จำกัด และสำนักงานอาชีวศึกษา(สอศ.) โดย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า

ประเทศไทยยังขาดแรงงานระดับกลางอีกจำนวนมาก  ขณะที่รัฐและคนส่วนใหญ่ไม่สนใจส่งลูกมาเรียนอาชีวศึกษา แต่ให้เรียนต่อมหาวิทยาลัย ทั้งที่จบมหาวิทยาลัยก็ตกงาน  ดังนั้น จึงเป็นการส่งเสริมการศึกษาที่ผิดและเป็นอันตรายต่อประเทศอย่างมาก ขณะที่ประเทศสิงค์โปร์ถือว่าเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียน จะให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษา โดยกำหนดสัดส่วนเด็กต้องเรียนอาชีวศึกษากับมหาวิทยาลัย 70 ต่อ 30 เพราะเห็นความสำคัญของแรงงานที่จะพัฒนาประเทศ  แต่ประเทศไทยเด็กเรียนอาชีวศึกษากับมหาวิทยาลัย 33 ต่อ 67  หรือ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการให้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) และสอศ.ทำความร่วมมือกันกำหนดสัดส่วนการรับนักเรียน 60 ต่อ 40 เพื่อให้เด็กมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น แต่เด็กมาเรียนอาชีวศึกษาไม่ได้ตามเป้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสพฐ.ไม่อยากให้เด็กเรียนสายอาชีพ เพราะกลัวว่าจะได้ค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนลดลง  ดังนั้น ต้องอาศัยนโยบายฝ่ายการเมืองมาบังคับ

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่าต่อไปว่า ตนเห็นว่าทุกฝ่ายจะต้องเตรียมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกันได้แล้ว รวมทั้งหากไม่ช่วยกันยกระดับอาชีวศึกษาใน 2 ปีนี้ แรงงานระดับกลางของเรากว่าครึ่ง จะถูกแทนที่ด้วยแรงงานต่างชาติ ที่มีศักยภาพมากกว่า รวมทั้งมีความอดทน และลอกเลียนแบบจุดแข็งเด็กอาชีวศึกษาของไทยที่มีความละเอียดและคิดสร้างสรรค์ในงานฝีมือเชิงศิลปะ ดังนั้น การเข้าสู่ประชาคมเศรฐกิจอาเซียนในปี2558  จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเด็กอาชีวศึกษาให้โชว์ศักยภายที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมช่วยกันผลักดัน เชื่อว่าในอีก3ปีเราจะสู้ได้ แต่ถ้าไม่เตรียมเด็กให้พร้อมเด็กไทยจะไม่มีพื้นที่ในการทำงาน และแรงงานระดับกลางของไ่ทยจะถูกเด็กต่างชาติเข้ามาแทนที่หมด

นางศรีวิการ์  เมฆธวัชชัยกุล อดีตรองปลัดกระทรางศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนมีโอกาสเดินทางไปดูงานของกลุ่มประเทศอาเซียน บอกได้เลยว่า เด็กอาชีวศึกษาของไทยไม่เป็นรองเด็กอาชีวศึกษาต่างชาติ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ แต่เราจะชะล่าใจไม่ได้ต้องเตรียมตัวให้พร้อมและพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆนอกจากนี้ การเรียนเด็กอาชีวศึกษาในทศวรรษที่ 21 ต้องสร้างเกิดการเรียนไม่แยกส่วนด้วยโมเดลห้องเรียนอาชีวศึกษาในโรงเรียนสพฐ คือ เด็กสายสามัญสามารถเรียนต่อด้านสายอาชีพได้โรงเรียนเดิม เพียงแต่ให้อาชีวศึกษาจัดการเรียนการสอนสายอาชีพเสริม และจะทำให้เด็กมีทักษะในการคิดนวตกรรมใหม่ร่วมกัน

นายไชยศิริ สมสกุล ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า  ขณะนี้รัฐและภาคเอกชนตื่นตัวในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากขึ้น ส่วนการเรียนของเด็กจากนี้ไม่ใช่เรียนเพื่อจบหรือเรียนตามใจตนเอง แต่ต้องเรียนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและสู่มาตรฐานสากล อีกทั้ง สถาบันการศึกษาจะมาคิดหลักสูตรที่เรียนเองไม่ได้ต้องระดมความคิดเห็นจากสถานประกอบการ เพื่อสู่ประชาคมอาเซียนร่วมกัน

ด้านนายจตุภัทร์  ตั้งคารวคุณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอเอ ฯ กล่าวว่า ทีโอเอ เป็นบริษัทคนไทยเห็นความสำคัญการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย จึงนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาเติมเต็มให้กับเด็กอาชีวศึกษาเพื่อให้สร้างาน สร้างอาชีพ ช่วยเหลือตนเองก้าวไปแข่งขันตลาดแรงงานได้ และเห็นว่าอาชีวศึกษาเป็นกลุ่มบุคลากรที่สำคัญที่จะร่วมพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ข้อมูลจาก www.dailynews.co.th

No comments:

Post a Comment